วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 มามีส่วนร่วมกันเถอะ
วิถีชีวิตคนไทยอยู่รอดด้วยภูมิปัญญาไทย/ท้องถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการทำมาหากินเป็นอย่างไร
แม้วิถีชีวิตของชาวบ้านเมื่อก่อนจะดูเรียบง่ายกว่าทุกวันนี้ และยังอาศัยธรรมชาติและแรงงานเป็นหลักในการทำมาหากิน แต่พวกเขาก็ต้องใช้สติปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้เพื่อจะได้อยู่รอด ทั้งนี้เพราะปัญหาต่างๆ ในอดีตก็ยังมีไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวมีสมาชิกมากขึ้น จำเป็นต้องขยายที่ทำกิน ต้องหักร้างถางพง บุกเบิก พื้นที่ทำกินใหม่ การปรับพื้นที่ปั้นคันนาเพื่อทำนาซึ่งเป็นงานที่หนัก การทำไร่ทำนา ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และดูแลรักษาให้เติบโตและได้ผล เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ การจับปลาล่าสัตว์ก็มีวิธีการ บางคนมีความ สามารถมาก รู้ว่าเวลาไหนที่ใดและวิธีใดจะจับปลาได้ดีที่สุดคนที่ไม่เก่งก็ต้องใช้เวลานานและได้ปลาน้อย การล่าสัตว์ก็เช่นเดียวกัน
การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ก็เป็นความรู้ความสามารถที่มีมาแต่โบราณ คนทางภาคเหนือรู้จักบริหารน้ำเพื่อการเกษตรและเพื่อการบริโภคต่างๆ โดยการจัดระบบเหมืองฝาย มีการจัดแบ่งปันน้ำกันตามระบบประเพณีที่ สืบทอดกันมา มีหัวหน้าที่ทุกคนยอมรับ มีคณะกรรมการจัดสรรน้ำตามสัดส่วนและตามพื้นที่ทำกิน นับเป็นความรู้ที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำ ไม่ว่าต้นน้ำหรือปลายน้ำ ได้รับการแบ่งปันน้ำอย่างยุติธรรม ทุกคนได้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ชาวบ้านรู้จักการแปรรูปผลิตผลในหลายรูปแบบ การถนอมอาหารให้กินได้นาน การดองการหมัก เช่น ปลาร้า น้ำปลา ผักดอง ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ปลาแห้ง เนื้อแห้ง การแปรรูปข้าวก็ทำได้มากมายนับร้อยชนิด เช่น ขนมต่างๆ แต่ ละพิธีกรรมและแต่ละงานบุญประเพณี มีข้าวและขนมในรูปแบบไม่ซ้ำกัน ตั้งแต่ขนมจีน สังขยา ไปถึงขนมในงานสารท กาละแม ขนมครก และอื่นๆ ซึ่งยังพอมีให้เห็นอยู่จำนวนหนึ่ง ในปัจจุบันส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อขาย หรือเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

ความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งเรียนรู้มาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง หรือผู้มีความรู้ในหมู่บ้านในท้องถิ่นต่างๆ ความรู้เหล่านี้สอนให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ และผู้มีพระคุณ มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันข้าวของของตนให้แก่ผู้อื่น ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเป็นคนดี สอนให้คนเคารพธรรมชาติ รู้จักพึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยไม่ทำลาย ให้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคนที่ล่วงลับไปแล้ว



ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นความรู้เรื่องการทำมาหากิน เช่น การจับปลา การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้า ทอเสื่อ การสานตระกร้าและเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่ ด้วยหวาย การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องมือทางการเกษตร นอกจากนั้น ยังมีศิลปะดนตรี การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆ การรักษาโรคด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การนวด เป็นต้น ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นความรู้ความสามารถที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ และถ่ายทอดมาให้เรา มีวิธีการหลายอย่างที่ทำให้ความรู้เหล่านี้เกิดประโยชน์แก่สังคมปัจจุบันด้วย คือ

•การอนุรักษ์ คือ การบำรุงรักษาสิ่งที่ดีงามไว้

•การฟื้นฟู คือ การรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามที่หายไป เลิกไป หรือกำลังจะเลิก ให้กลับมาเป็นประโยชน์ เช่น การรื้อฟื้นดนตรีไทย

•การประยุกต์ คือ การปรับ หรือการผสมผสานความรู้เก่ากับความรู้ใหม่เข้าด้วยกัน ให้เหมาะสมกับสมัยใหม่ เช่น การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ประสานกับการรักษาสมัยใหม่ การทำพิธีบวชต้นไม้ เพื่อให้คนร่วมมือกันอนุรักษ์ป่า








วิถีชีวิตของคนชนบท

ความยากจนที่เกิดกับคนชนบทในแต่ละภาคนั้น คนชนบทได้มีการช่วยเหลือตนเองให้อยู่รอดด้วยการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยการโยกย้ายออกจากท้องถิ่นมารับจ้างทำงานในเขตที่มีความเจริญ เช่น ในเขตเกษตรก้าวหน้า โดยการรับจ้างทำงานในไร่นา ในปัจจุบันประเพณีดั้งเดิมของคนชนบทที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการดำนาและเกี่ยวข้าว ที่เรียกกันว่า "ลงแขก" คือ เพื่อนบ้านช่วยกันทำงานในไร่นาซึ่งกันและกันเพื่อให้งานเสร็จทันเวลา โดยไม่คิดค่าจ้างแต่อย่างใดนั้น ได้เลิกไปแล้วเกือบทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตต้องอาศัยเงินมากขึ้น จึงต้องทำโดยการรับจ้าง ส่วนบางคนก็เข้าสู่ตัวเมืองหรือกรุงเทพฯ แล้วทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ทอผ้า ผลิตอาหารกระป๋อง หรือการรับจ้างทั่วไปในร้านอาหาร ภัตตาคาร บ้านที่อยู่อาศัย หรือเป็นกรรมกรแบกหาม ขับรถรับจ้าง ฯลฯ คนชนบทจึงเข้าปะปนกับคนเมือง วิถีชีวิตของคนชนบทก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมของเมือง ดำเนินชีวิตแบบคนเมือง เช่น ฟังวิทยุ และมีการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยมากขึ้น การกินอยู่ก็ได้กินอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้น เครื่องใช้ เช่น พัดลม และวิทยุ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขามากขึ้น ความนิยมในเพลงลูกทุ่งเริ่มเข้าแทนที่การละเล่นพื้นบ้าน เช่น หมอลำ โปงลาง หรือลิเก









ในขณะเดียวกันความเป็นอยู่ของคนเมืองจะได้รับการนำเข้าไปสู่ชนบท เมื่อมีถนนและไฟฟ้าเข้าถึงท้องถิ่นชนบทนั้น คนชนบทที่มีฐานะดีพอสมควร ก็มีความต้องการสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับที่คนในเมืองใช้ เช่น ใช้เตารีดไฟฟ้าแทนเตารีดถ่าน นุ่งกางเกงยีนส์แทนการนุ่งกางเกงชาวนาหรือผ้าถุง สวมรองเท้า ไม่เดินเท้าเปล่า สูบบุหรี่มวนแทนยาเส้น หุงข้าวทำกับข้าวโดยใช้เตาถ่าน ที่ฐานะดีหน่อยก็ใช้เตาแก๊ส ใช้รถจักรยานยนต์แทนจักรยาน รู้จักการใช้ส้วมซึมแทนส้วมหลุม เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปหาหมอที่สถานีอนามัย โรงพยาบาล หรือคลินิก ฯลฯ



แต่ก็ยังมีชนบทที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง ห่างไกลจากความเจริญ วิถีการดำเนินชีวิตก็ยังเป็นแบบเดิม เนื่องจากความยากจนซึ่งปรากฏอยู่ในภาคต่างๆ ดังกล่าวไว้แล้ว คนชนบทยากจนเหล่านี้ไม่มีรายได้เหลือพอที่จะซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่อาหารการกินที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็อาศัยสมุนไพร เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากสถานีอนามัย การดำรงชีวิตของเขาจะพึ่งธรรมชาติเป็นสำคัญ การทำการเกษตรเป็นแบบพึ่งน้ำฝน ปีใดฝนไม่ตกตามฤดูกาล ปีนั้นพืชผลก็เสียหาย ทำให้ไม่มีข้าวพอกิน พืชผล เช่น ปอ ข้าวโพด เสียหาย รายได้จากการขายพืชผลเหล่านี้ก็ลดลง เงินที่จะไปซื้อข้าวปลาอาหารก็น้อยลง ต้องได้รับความอดอยากขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อชีวิต สิ่งต่างๆ เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่คนชนบทเองและคนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือกันและให้ความช่วยเหลือให้ชนบทยากจนส่วนนี้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความพออยู่พอกิน ไม่ต้องอดอยากหิวโหยต่อไป เพราะคนชนบทยากจนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่ยังอ่อนแอประเทศชาติก็จะขาดความมั่นคง



การดำเนินชีวิตของคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละภูมิภาคขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ สภาพแวดล้อม
ทางธรรมชาติ รากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มคนในภูมิภาค การรับวัฒนธรรมจากภายนอก
และลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลทำให้ลักษณะการดำเนินชีวิตหรือวัฒนธรรม
ความเป็นอยู่ของคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตน



ภาคเหนือ

ภาคเหนือเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์
ผู้คนอาศัยในดินแดนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ คนเมืองกับชาวเขา คนเมือง ใช้เรียกคนที่อาศัยในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
จากสภาพภูมิศาสตร์อันอุดมสมบูรณ์ คนเมืองในภาคเหนือมีอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก
มีวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างเกี่ยวข้องกับการเกษตร และขนบธรรมเนียมเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
แต่ครั้งปู่ย่าตายาย เช่น การนับถือผี เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทำให้เกิดประเพณีต่าง ๆ
ตามความเชื่อทางศาสนา เช่น ประเพณีสงกรานต์ งานปอย ทานขันข้าว ตักบาตรเทโว
ชาวเขา เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาและกระจายตัวอยู่ทั่วไปตามพื้นที่สูง


ของภาคเหนือ ชนกลุ่มน้อยมีอยู่หลายเผ่า เช่น ม้ง ลาหู่ อาข่า ลีซูหรือลีซอ เป็นต้น
ชนเผ่าต่าง ๆ มีความผูกพันกับป่าเขา ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกบนที่สูงและการเลี้ยงสัตว์
มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง ทั้งภาษา เครื่องแต่งกาย ศาสนา พิธีกรรมและความเป็นอยู่

ที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี สภาพดินฟ้าอากาศ มีส่วนกำหนดลักษณะที่อยู่อาศัยของผู้คน


บ้านเรือนในภาคเหนือ นิยมสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นสอดคล้องกับวิถีชีวิต ตัวเรือนมีขนาด เล็กใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว ประดับยอดหลังคาด้วยไม้แกะสลักไขว้กัน เรียกว่า "กาแล" ชาวเหนือที่มีฐานะดีจะอยู่เรือนที่ค่อนข้างมีขนาด ใหญ่และประณีตมากขึ้น


การแต่งกาย ในอดีตผู้หญิงชาวเหนือไม่นิยมใส่เสื้อแต่มีผ้าคล้องคอผืนใหญ่ นุ่งผ้าซิ่น


ลายขวางต่อหัวและเชิง ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าผืนเดียว ต่อมาภายหลังจนกระทั่งปัจจุบัน การแต่งกาย
พื้นเมืองมีลักษณะแปลงไป ผู้หญิงนุ่งซิ่นกรอมเท้า อาจเป็นซิ่นลายขวางหรือซิ่นที่ทอด้วยลวดลาย
วิจิตรงดงาม สวมเสื้อผ้าฝ้ายตัวสั้น นิยมตกแต่งด้วยเครื่องประดับเงิน ส่วนผู้ชายใส่เตี่ยวสะดอ
หรือกางเกงขาก๊วยและเสื้อหม้อห้อมเคียนเอวด้วยผ้าขาวม้า อันเป็นลักษณะที่แสดงความเรียบง่าย
ขนบธรรมเนียมประเพณี เครื่องดนตรีล้านนาเป็นเครื่องดนตรีทางภาคเหนือ ที่พบเห็นเสมอ


ได้แก่ ซึง สะล้อ ปี่ กลอง ซึ่งมีหลายชนิด เช่น กลองหลวง กลองสะบัดชัย
สำหรับการฟ้อนรำนั้น ผู้ชายนิยมฟ้อนดาบซึ่งเป็นการนำเอาท่วงท่าศิลปะการต่อสู้ของคน


สมัยก่อนมาปรับประยุกต์ ฟ้อนที่นิยมได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายหลาย เป็นต้น
ปัจจุบันดนตรีและการฟ้อนรำของภาคเหนือเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ใช้แสดงต้อนรับแขกบ้าน
แขกเมืองเมื่อมีเทศกาลหรืองานประเพณีต่าง ๆ ก็จะนำดนตรีและการแสดงพื้นบ้านออกมาเล่นกัน
อย่างสนุกสนาน
สำหรับการฟ้อนรำนั้น ผู้ชายนิยมฟ้อนดาบซึ่งเป็นการนำเอาท่วงท่าศิลปะการต่อสู้ของคน


สมัยก่อนมาปรับประยุกต์ ฟ้อนที่นิยมได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายหลาย เป็นต้น
ปัจจุบันดนตรีและการฟ้อนรำของภาคเหนือเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ใช้แสดงต้อนรับแขกบ้าน
แขกเมืองเมื่อมีเทศกาลหรืองานประเพณีต่าง ๆ ก็จะนำดนตรีและการแสดงพื้นบ้านออกมาเล่นกัน
อย่างสนุกสนาน

ภาคกลาง
ภาคกลางมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่อุดมสมบูรณ์ เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตรกรรม ภาคกลางเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศ เป็นศูนย์กลางของการบริหารราชการ การศึกษา กิจกรรมทาง
เศรษฐกิจและการคมนาคม จึงเป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น มีหลายเชื้อชาติ เช่น คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายจีน คนไทยเชื้อสายญวน คนไทยเชื้อสายลาว
การทำมาหากิน ผู้คนในภาคกลางประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการ


ปลูกข้าว บริเวณภาคกลางมีแม่น้ำลำคลองหนองบึงอยู่ทั่วไปและอยู่ใกล้อ่าวไทย จึงมีการทำการประมง
ทั้งประมงน้ำจืด ประมงน้ำกร่อยและประมงน้ำเค็ม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการเติบโตเป็นศูนย์กลาง
ทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่โดยทั่วไป เช่น โรงสีข้าว โรงงานผลิตน้ำตาล
โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ภาคกลางจึงเป็นภูมิภาคที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานและเป็นแหล่งงานของผู้คนที่อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น

ที่อยู่อาศัย บ้านเรือนในภาคกลางแต่เดิมมีลักษณะที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมอย่างชัดเจน ภาคกลางอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ฝนตกชุกและอากาศร้อน จึงปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่อให้อยู่อาศัยอย่างสบาย
ในภูมิประเทศมีแม่น้ำลำคลองมากก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ หรือปลูกเรือนลอยอยู่ในน้ำเรียกว่า เรือนแพ
สำหรับที่อยู่อาศัยปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย มีลักษณะหลังคาทรงจั่วเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวกและ
ทำให้ฝนที่ตกลงมาไหลลงได้รวดเร็วไม่ค้างอยู่บนหลังคา มีใต้ถุนสูงเพื่อให้พ้นน้ำท่วมและใช้เก็บ
เครื่องมือเครื่องใช้และผลิตผลทางการเกษตร สำหรับผู้ที่มีฐานะดก็จะปลูกในลักษณะที่คงทนถาวรี
มากกว่า
การแต่งกาย ในอดีตนุ่งผ้าโจงกระเบน ผู้หญิงท่อนบนใช้ผ้าคาดอก หากออกไปทำงาน


หรือที่ชุมชนก็ห่มผ้าสไบเฉียงไหล่ เป็นต้น ต่อมาคนไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงได้รับอิทธิพล
ของการแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น และเป็นแนวนิยมจนกระทั่งปัจจุบัน

ขนบธรรมเนียมประเพณี ประเพณีเกี่ยวกับการเกษตร เช่น พิธีแห่นางแมวเพื่อขอให้เทวดา


บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล เวลาที่ข้าวเริ่มออกรวงก็จะมีพิธีทำขวัญข้าว
ในทางพุทธศาสนามีกิจกรรมสำคัญ ๆ ที่กระทำกันหลายโอกาส เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา


นอกจากนี้ยังมีเทศกาลอื่น ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือชาวอีสาน ประกอบด้วยชนเผ่าที่มาจากหลายกลุ่ม


ชาติพันธุ์ รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันอย่างมากมาย ชาวไทยอีสานกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วภูมิภาค

ที่อยู่อาศัย แต่เดิมหมู่บ้านในชนบทภาคอีสานยังคงยึดถือรูปแบบของการเป็นอยู่ที่เรียบง่าย


บ้านเรือนที่ปลูกสร้างใช้วัสดุในท้องถิ่น เป็นเรือนใต้ถุนสูง ตีฝาสายบัว หลังคาทรงจั่วต่ำ ปัจจุบันส่วนใหญ่ เป็นบ้านไม้หรือก่ออิฐฉาบปูน มุงหลังคาสังกะสีและกระเบื้อง ผู้มีฐานะดีมักสร้างบ้านโดยใช้วัสดุราคาแพง รูปทรงตะวันตก
ขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวอีสานส่วนใหญนับถือพุทธศาสนา แต่ทางปฏิบัติยึดถือทั้งผี


พราหมณ์์และพุทธศาสนา ที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน รวมเรียกว่า "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่"
เป็นผลให้สังคมชาวอีสานอยู่กันอย่างเรียบง่ายสงบสุข


การแต่งกาย ชาวอีสานนิยมทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนอนใช้ในครัวเรือน


กันแทบทุกครอบครัว รูปแบบการแต่งกายมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผู้หญิงนุ่งซิ่น ผู้ชายนุ่งโสร่ง
ปัจจุบันหันมาใช้กางเกงเสื้อผ้าแบบตะวันตก แต่ก็ยังแต่งกายพื้นเมืองในเวลามีเทศกาลงานบุญต่าง ๆ
ตามประเพณีท้องถิ่น

ภาคใต้


กลุ่มชนโบราณที่เคยอาศัยและตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ คือ "ชนชาวถ้ำ" และ "ชนชาวน้ำ"


ชนชาวถ้ำ ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเขา โดยเข้าป่าล่าสัตว์ตามแบบดั้งเดิม ชนกลุ่มนี้คือ


บรรพบุรุษของพวกเซมัง หรือ ซาไก หรือเงาะป่า
ชนชาวน้ำ อาศัยอยู่ในแนวชายฝั่งทะเลตามอ่าวหรือถ้ำบนเกาะ คือ พวกโอรังลาโอด หรือ โปรโต-มาเลย์ หรือชาวเลที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากทำเลที่ตั้งของภาคใต้เป็นคาบสมุทร ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ จึงมีชนต่างชาติเข้ามาพำนักอาศัยและเกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติ ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวจีน และชาวตะวันออกกลาง
ที่อยู่อาศัย จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ใกล้ท่าน้ำ ลำคลอง อ่าว


และทะเล เพื่อสะดวกในการสัญจรและการทำมาหากิน คนไทยภาคใต้จะมีคติในการตั้งบ้านเรือน เช่น
ปลูกบ้านโดยมีตีนเสารองรับเสาเรือนแทนการขุดหลุมฝังเสา เพื่อสะดวกในการโยกย้ายและเป็นการ
ป้องกันมด ปลวก มีคติห้ามปลูกเรือนขวางตะวัน เพราะจะขวางเส้นทางลมมรสุมซึ่งอาจทำให้หลังคา
ปลิวและถูกพายุพัดพังได้ง่าย วัสดุที่นำมาสร้างคือสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น บ้านเรือนมีหลายลักษณะ
มีทั้งบ้านเรือนเครื่องผูก หลังคาทรงจั่วและทรงปั้นหยา มีใต้ถุนเตี้ยเพราะมีลมพายุเกือบทั้งปี
หากปลูกเรือนสูงอาจต้านทานแรงลม ทำให้เรือนเสียหายได้


การแต่งกาย เนื่องจากภาคใต้ตั้งอยู่แถบศูนย์สูตร มีผลให้อุณหภูมิไม่แตกต่างกันนักชาวใต้นิยม แต่งกายแบบเรียบง่าย หลวม ๆ ส่วนมากใช้ผ้าฝ้าย รูปแบบเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่คล้ายกับ
ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะอยู่ในลักษณะอากาศแบบเดียวกัน ผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของ
ของภาคใต้ คือ ผ้ายก ผ้าจวน ผ้าไหมพุมเรียง และผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นผ้าที่นิยมกันในภาคใต้ตอนล่าง
เป็นต้น

ขนบธรรมเนียมประเพณี จากภูมิประเทศที่เป็นทางผ่านเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าของพ่อค้า


ต่างชาติส่งผลถึงวัฒนธรรมด้านศาสนาและความเชื่อของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ด้วย ทั้งศาสนาพุทธ
และศาสนาฮินดู ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลในภาคใต้นับพันปีมาแ้ล้ว และศาสนาอิสลามซึ่งได้เผยแพร่
ในระยะหลัง แต่เป็นที่นิยมนับถือกันของคนไทยในภาคใต้ตอนล่าง
คนในภาคใต้ยังมีความเชื่อและประเพณีที่ผูกพันกับธรรมชาติ เช่น ประเพณีรับขวัญข้าว
ทำขวัญเรือและเซ่นสรวงแม่ย่านางเรือ ประเพณีการทำบุญวันสารทเดือนสิบซึ่งเป็นความศรัทธา
ในเรื่องบุญและความกตัญญูต่อบุพการี ประเพณีชักพระซึ่งเชื่อว่าทำให้ฝนตกตามฤดูกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
แก้วที่คว่ำอยู่กลางสายฝนต่อให้ฝนตกกระหน่ำทั้งคืน ก็ไม่อาจเต็มไปด้วยน้ำคนที่ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้ ต่อให้คลุกคลีอยู่กับนักปราชญ์ทั้งคืนทั้งวันก็ยังโง่เท่าเดิมไม่มีคัยเข้าจัยนอกจากตัวเราเอง

ผู้ติดตาม